วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

" อุสรณ์ดอนเจดีย์ "

เจดีย์ยุทธหัตถี เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้สร้างขึ้นตรงที่กระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ ซึ่งเดิมเรียกว่า ตำบลท่าคอย
เจดีย์นี้ถูกค้นพบเมื่อพ.ศ.๒๔๕๖ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับสั่งให้เจ้าเมืองสุพรรณบุรี พระทวีประชา ชน (อี้ กรรณสูตร) ค้นหาซากเจดีย์เก่าและได้ค้นพบ ซึ่งเชื่อ ได้ว่าน่าจะเป็น เจดีย์ยุทธหัตถีและเมื่อค้นพบแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จไปประกอบพิธีบวงสรวงสมโภช เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๖ องค์เจดีย์เหลือซากแต่เพียงฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ ๑๙.๕๐ เมตร สูงจากพื้นดินถึงส่วนชำรุด ๖.๕๐ เมตร รัชกาลที่ ๖ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้กรมศิลปากรกะงบประมาณในการบูรณะ และตกลงเลือกแบบเจดีย์ยุทธหัตถีที่จังหวัดตาก ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึก ครั้งพ่อขุนรามคำแหงชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ประมาณวงเงินงบประมาณ แล้วจะใช้ประมาณ ๑๙๒,๕๐๐ บาท แต่เนื่องด้วยการเงินของประเทศกำลังขาดแคลนมาก
การบูรณะเจดีย์จึงยังไม่ได้ดำเนินการตามพระราชประสงค์ การสร้างอนุสาวรีย์ที่ดอนเจดีย์ได้เริ่มขึ้นใหม่ โดยรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มดำเนินการตั้งกรรมการอนุมัติสร้างอนุสรณ์ดอนเจดีย์ขึ้น เพื่อพิจารณาแบบ และการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ และแบบของเจดีย์ให้เป็นทรงลังกาตามแบบอย่างเจดีย์ใหญ่ที่วัดชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะสันนิษฐานว่า เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลนี้ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะครั้งนั้นตามคำกราบทูลแนะนำของสมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว เช่นเดียวกับเจดีย์ยุทธหัตถี การดำเนินการบูรณะเจดีย์ยุทธหัตถี เริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือจากพ่อค้า ข้าราชการ และประชาชน ช่วยกันบริจาคทรัพย์สมทบทุน ได้เงิน ๕.๕ ล้านบาทเศษ จากกองทัพทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ กองทัพละ ๕๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินสมทบทุนทั้งสิ้น ๗,๐๗๗ ล้านบาทเศษรัฐบาลจึงมอบให้กรมศิลปากร ก่อสร้างพระสถูปเจดีย์มีฐานกว้าง ๓๖ เมตร สูงจากพื้นดินถึงยอด ๖๖ เมตร โดยสร้างครอบพระสถูปเจดีย์องค์เดิมเอาไว้ภายใน มีทางเข้าออก ๔ ประตู และได้ออกแบบปั้นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงคชาธารออกศึก ประดิษฐานอยู่บนแท่น ที่มีฐานขนาดกว้าง ๑๕.๓๐ เมตร ยาว ๒๕.๕๕ เมตร สูง ๙ เมตร เฉพาะอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงช้างศึกหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ กว้าง ๒.๙๐ เมตร ยาว ๕.๕๘ เมตร และสูง ๗ เมตร
ฐานทั้งสองด้านติด ภาพตอนยุทธหัตถี และตอนประกาศอิสระภาพ ณ เมืองแครง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สิ้นค่าใช้จ่ายในการสร้างพระสถูปเจดีย์ ๔,๔๔๐,๐๐๐.๐๐ บาท ค่าหล่อปั้นอนุสาวรีย์ เป็นเงิน ๗๙๘,๐๐๐.๐๐ บาท ค่าสร้างแท่นฐานอนุสาวรีย์ ๒๔๘,๐๐๐.๐๐ บาท ค่าสร้างรั้วและศาลาเป็นเงิน ๓๔๗,๕๐๐.๐๐ บาท ค่าเขียนภาพพระราชประวัติ ๑๑๕,๐๐๐.๐๐ บาท ค่าขยายเขตและชดใช้ที่ดินเป็นเงิน ๑๑๑,๔๐๘.๕๐ บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการค่าตบแต่งพื้นบริเวณค่าตบแต่งภายในองค์พระสถูปเจดีย์ค่าพิธีการ และ ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้เสด็จไปเปิดพระบรมรูปอนุสาววรีย์ ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๒
ปัจจุบันในวันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกๆ ปี ที่บริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จะประกอบพิธี บวงสรวงเนื่องในวันกองทัพไทย และช่วงปลายเดือน มกราคม จังหวัดสุพรรณบุรีได้กำหนดให้มีงานสมโภช อนุสรณ์ดอนเจดีย์ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นประจำทุกปี มีการ แสดงงานแสง สี เสียงและการทำสงครามยุทธหัตถี ระหว่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับ สมเด็จพระ มหาอุปราชาเพื่อให้อนุชนรุนหลังได้ชมด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น